สแตนเลสแท้ สแตนเลสเทียม

สแตนเลสคืออะไร

สเตนเลส มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “เหล็กกล้าไร้สนิม” แปลจากภาษาอังกฤษว่า stainless steel

สแตนเลสเป็นวัสดุที่มีธาตุหลักผสมรวมกันอยู่ระหว่าง “เหล็ก”และ “โครเมี่ยม” โดยมีตัวกำหนดว่า ถ้าเป็นสเตนเลสได้นั้นจะต้องมีปริมาณคาร์บอนที่ผสมอยู่น้อยว่า 0.1 % และส่วนผสมของโครเมี่ยมจะต้องไม่น้อยกว่า 10.5% 

ดังนั้นคำว่า "ธาตุสเตนเลส" นั้นไม่มีไม่มี เพราะสแตนเลสเป็นการรวมกันของธาตุหรือเรียกว่าโลหะผสมนั้นเอง
สแตนเลสไม่เป็นสนิมอันเนื่องมาจากการทำปฏิกิริยากันระหว่างออกซิเจนในอากาศกับโครเมียม (Cr) ในเนื้อสเตนเลส เกิดเป็นฟิล์มบางๆ เคลือบผิวไว้ ทำหน้าที่ปกป้องการเกิดความเสียหายให้กับตัวเนื้อสเตนเลสได้เป็นอย่างดี ปกป้องการเกิด Corrosion และไม่ชำรุดหรือสึกกร่อนง่ายอย่างโลหะทั่วไป

โครเมี่ยมในสแตนเลสเป็นตัวช่วยหลักเพื่อไม่ให้เกิดอ๊อกไซด์ (สนิม) ซึ่งสเตนเลสในตระกูล 400 (สเตนเลสที่มีเลข 4 นำหน้าโค๊ดทั้งหมด) จะไม่มีธาตุนิเกิลผสมอยู่เลย และที่ใช้กันอยู่หลายๆ เกรด เช่น สเตนเลสเกรด 444,430 (18/0), 430Ti, 439, 409,409L, 420J1, 420J2 เป็นต้น ขอยกตัวอย่าง สเตนเลสเกรด430 ที่อยู่ในเครื่องซักผ้าชนิดปั่นหน้า ที่ถังส่วนที่เจาะเป็นรูเล็กๆ จะใช้สเตนเลสตัวนี้ เพราะราคาถูกและสามารถใช้งานได้ดีกับผลิตภัณฑ์นี้ ถ้าเรานำแม่เหล็กไปทดสอบ จะดูดติดอย่างแรง 

สแตนเลสตระกูล 400 จะประกอบไปด้วย เหล็ก คาร์บอน และโครเมี่ยม 17% ถ้าเราดูจากโค๊ดจะเขียนว่า 17-0 นั่นหมายความว่า มีโครเมี่ยมอยู่ 17% และนิเกิล 0%

ถ้าเราเห็นโค๊ด 304L (18-8), 18-9, 304(18/10) ถ้า 18-8 นั่นหมายความว่า โครเมี่ยม 18% และนิเกิล 8% ซึ่งอยู่ในตระกูล 300 (สเตนเลสที่โค๊ดใช้เลข 3 ขึ้นก่อนหน้าทั้งหมด)

บางคนก็เลยคิดว่า ในเมื่อโครเมี่ยมเป็นตัวช่วยป้องกันการเกิดสนิม ก็ใช้เหล็กชุบโครเมี่ยมดีกว่าถูกกว่าสเตนเลสเยอะ คำตอบคือการนำเหล็กมาชุบโครเมี่ยมเป็นแค่การเคลืบผิวเหล็กไม่ให้เนื้อเหล็กสัมผัสอาการ การชุบไม่ได้ทำให้โึครเมี่ยมผสมเป็นเนื้อเดียวกันกับเหล็ก ดังนั้นหากเกิดการกระเทาะของโครเมี่ยมจะทำให้ผิวเหล็กสัมผัสอ๊อกซิเจนจึงเกิดสนิม แต่ถ้าเป็นสเตนเลส ธาตุโครเมี่ยมจะถูกผสมในเหล็กในขณะที่เหล็กเป็นของเหลว โดยโครเมี่ยมจะผสมไปทั่วทุกอณูของน้ำเหล็กเลย จึงไม่มีทางที่โครเมี่ยมจะกระเทาะออกจากเหล็กได้
 
   

กลุ่มหลักใหญ่ๆ ของสเตนเลส

              1. กลุ่มเฟอริตริก (Ferritic) เรียกอย่างง่าย ๆ ว่า สเตนเลสตระกูล 400 เป็นสเตนเลสที่มีปริมาณคาร์บอนน้อยกว่า 0.1 % และไม่มีนิเกิลผสมอยู่เลย ทำให้กลุ่มนี้ราคาถูก สเตนเลสตระกูลนี้จะมีแรงปฎิกริยาต่อการดูดของแม่เหล็ก ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เราใช้งานกันอยู่จากสเตนเลสตระกูลนี้ คือ ช้อนที่ใช้รับประทานอาหาร เช่นช้อนสั้นหรือช้อนแกง ไม่ค่อยเคยเห็นสนิมที่เกิดขั้นเลย เพราะว่ามีการทำความสะอาด คือทานอาหารเสร็จทำความสะอาดช้อนนั้น การล้างเป็นการกำจัดคราบไขมันที่เกาะอยู่บนผิวของสเตนเลสออกไปทำให้อ๊อกซิเจนในอากาศสามารถทำปฎิกริยากับโครเมี่ยมในผิวสเตนเลส เพื่อสร้างฟิมล์ป้องกันสนิม แต่ถ้าเราไม่ล้างซิ แน่นอนอ๊อกซิเจนไม่สามารถผ่านชั้นฟิมล์ไขมันได้ การทำปฎิกริยาระหว่างอ๊อกซิเจนในอากาศกับผิวของสเตนเลสย่อมไม่สามรถเกิดขึ้นได้ เกิดสนิมแน่นอนนอกจากนั้นสเตนเลสในตระกูลนี้ก็ยังสามารถนำมาผลิตถังเครื่องซักผ้าในส่วนตัวถังที่เจาะรู

             2.  กลุ่ม มาร์เทนซิตริก (Martensitic) ก็ยังอยู่ในตระกูล 400 แต่จะต่างกันที่เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนที่ผสมอยู่มากกว่า 0.1% ทำให้แข็งกว่า ตัวอย่างเช่น ใบมีดโกนหนวด,มีดหมอผ่าตัด, มีดแมกไกเวอร์

             3. กลุ่ม ออสเตนเนตริก (Austennitic) เรียกว่าสเตนเลสตระกูล 300 สเตนเลสในกลุ่มจะเพิ่มธาตุนิเกิลผสมผลที่เกิดขึ้นก็คือสเตนเลสในกลุ่มนี้จะไม่ตอบสนองกับปฎิกริยาแรงดูดของแม่ เหล็ก เมื่ออยู่ในสภาพปกติต่อเมื่อมีการตัด การเชื่อม การเจียร การดัดโค้ง การแมทชีนนิ่ง แม้แต่การปั๊มขึ้นรูปซึ่งจะทำให้บริเวณที่เกิดการกระทำดังกล่าว เกิดปฎิกริยาตอบสนองกับแรงแม่เหล็กได้ แต่จะไม่แรงเท่ากับตระกูล 400 นอกจากนี้สแตนเลสกลุ่มนี้มีความสามารถในการขึ้นรูปได้ดีเพราะมีการคืบและยืดตัวได้จากจากส่วนผสมของธาตุนิเกล 


การตรวจสอบแบบพื้นฐาน

             จะทดสอบอย่างไรว่าเป็นสเตนเลสเกรด 304 จริงหรือเปล่า เพื่อแยกระหว่างสเตนเลสตระกูล 200 เช่น 201,202,201 Modify และ 204Cu นั้นจะใช้น้ำยาทดสอบหาค่าธาตุแมงกานิส ถ้าน้ำยาเปลี่ยนเป็นสีชมพูแสดงว่ามีเปอร์แมงกานิสผสมอยู่มาก นั่นแสดงว่าสเตนเลสนั้นอยู่ในตระกูล 200 ถ้าไม่เปลี่ยนสี นั่นแสดงว่าอยู่ในกลุ่ม 300
             ส่วนเรื่องแม่เหล็กดูดหรือไม่ดูดนั้น เกี่ยวกับเกรดของ stainless และกระบวนการผลิต ถ้าเป็น 304 แม่เหล็กจะไม่ดูด แต่พอ เอาไปขึ้นรูปแล้ว แม่เหล็กอาจจะดูดได้เหมื่อนกัน แต่จะดูดอ่อนๆ ไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็น 430 แม่เหล็กมันดูดตั้งแต่มาเป็นแผ่นๆแล้วและจะดูดแรงกว่า 304 ที่ขึ้นรูปแล้ว
 

ความแตกต่างระหว่างเหล็กกับสเตนเลสเมื่อออกซิเจนทำปฎิกริยาเป็นอย่างไร


              “ถ้าขาดอ๊อกซิเจน จะไม่เกิดฟิมล์ป้องกันสนิม “สเตนเลสตาย”” สเตนเลสเองเปรียบเสมือนกับคนตรงต้องการอากาศใช้ในการหายใจ เพื่อดำรงชีวิต ในอากาศจะประกอบด้วยก๊าซต่างๆ หลายชนิด แต่มีตัวหนึ่งคือ ”ก๊าซอ๊อกซิเจน” เป็นตัวสำคัญที่สุด เพราะร่างกายมนุษย์เราต้องการมันเพื่อไปฟอกเม็ดเลือด เช่นเดียวกับสเตนเลส ก็ต้องการอ๊อกซิเจน มาทำปฎิกริยากับโครเมี่ยมที่ผสมอยู่ในเนื้อสเตนเลส ทำให้เกิดฟิมล์บางๆ ใสๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทางโลหะวิทยาจะเรียกฟิมล์ตัวนี้ว่า “Passive film” (พาสซิฟ ฟิมล์) ซึ่งเป็นตัวช่วยป้องกันการกัดกร่อนของสเตนเลสนั่นเอง (สนิม) ฟิมล์นี้จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เมื่ออากาศสัมผัสกับผิวของสเตนเลส โดยสเตนเลสทุกเกรด ไม่ว่าเกรดสูง หรือเกรดต่ำ จะสร้างฟิลม์ได้ทั้งสิ้น ฟิมล์นี้สามารถหลุดออกได้ เมื่อเกิดการกระแทก กระเทาะ ตัด เจียร ขีดข่วน แต่ฟิล์มก็จะสร้างขึ้นใหม่เมื่อโดนอากาศอีกครั้ง

               ดังนั้นต้องอย่าปิดกั้นไม่ให้ผิวสเตนเลสขาดอ๊อกซิเจน เพื่อเขาจะได้สร้างฟิมล์ป้องกันสนิม การทาน้ำมัน พ่นสี การติดสติกเกอร์ ต้องหลีกเลี่ยง แล้วถ้านำสเตนเลสไปแช่น้ำล่ะ เป็นสนิมไหม คำตอบก็คือไม่เป็นเพราะอ๊อกซิเจนในน้ำก็ทำปฎิกริยากับผิวสเตนเลสเช่นกัน มิฉะนั้นแล้วถังน้ำสเตนเลสก็ขายกันไม่ได้แน่นอน ยกเว้นอย่านำไปใช้กับน้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว เกิดสนิมแน่นอน

              เมื่อเหล็กทำปฎิกริยากับออกซิเจนในอากาศ (แม้กระทั่งนำเหล็กไปแช่ในน้ำก็เป็นสนิมได้เพราะอย่าลืมว่าในน้ำก็มีออกซิเจนเหมือนกัน) จะทำให้เกิดสนิมสีแดง เรียกว่า “เฟอริคอ๊อคไซด์ “ ทำให้เหล็กเกิดการผุกร่อนชำรุดเสียหาย การป้องกันการผุกร่อนของเหล็ก คือ ทา-พ่นสี ชโลมน้ำมันจารบี รมดำ ชุปโครเมี่ยม ฯลฯ นั่นแสดงให้เห็นว่าเหล็กนั้นไม่ชอบอากาศ หรืออ๊อกซิเจน
              
 
สนิมของเหล็กจะมีความพรุนลักษณะคล้ายกับฟองน้ำ การเกิดสนิมจะเกิดขึ้นที่ชั้นแรกที่ทำปฎิกริยากับอ๊อกซิเจนในอากา ศก่อน แล้วจะกินลงไปเป็นชั้น ๆ จนกระทั่งหมดเนื้อเหล็ก ถ้าเราไม่หยุดยั้งไว้ น้ำหนักของเหล็กจะเบาลงเรื่อยๆ และชั้นสนิมจะเป็นแผ่นๆ เหมือนขนมชั้นต่างกับสเตนเลส ถ้าหากเกิดสนิมขึ้นเป็นจุดๆ และจะเจาะลงแนวลึกเป็นโพรงสนิมอยู่ภายในเนื้อสเตนเลสลักษณะคล้ายกับโพรงหนู

              วิธีการตรวจสอบว่าเป็นสนิมระดับไหนให้ใช้ปลายเล็บขูดไปที่ตัวสนิมให้หลุดออก และมองดู ณ.จุดที่สนิมขึ้นนั้นว่ายังคงมีจุดรอยสนิมหรือไม่ ถ้าไม่มีแสดงว่าอาจจะเป็นเศษเหล็ก ฝุ่นเหล็กปลิวมาเกาะทำให้เศษเหล็กนั้นเป็นสนิม ซึ่งมาจากการถ่ายกระแสไฟฟ้าสถิตย์ระหว่างสเตนเลส กับเศษเหล็กทำให้เกิดสนิมนั่นเอง ดังนั้นอย่าใช้ตาข่ายเหล็กกันน้องแมวเข้าออกจากบ้านที่มีรั้วประตูเป็นสแตนเลสเป็นอันขาด เพราะจะทำให้งานสเตนเลสของคุณเป็นสนิมไปด้วย ควรใช้เป็นตะข่ายแบบพลาสติกจะดีกว่า ที่เห็นบ่อยคือการยึดท่อสเตนเลสกับฉากสเตนเลสโดยใช้สกรูและน๊อตเหล็กในเวลาไม่เกิน 2-3 เดือนหลังการติดตั้ง ซึ่งสกรูและน๊อตเหล็กจะเกิดสนิมขึ้นและจะส่งผลไปยังสเตนเลสให้เป็นสนิมตาม ลักษณะเช่นนี้ทางศัพท์เทคนิคด้านโลหะ วิทยาจะเรียกว่า “แกลวานิค ครอโลชั่น” (Galvanic Corrosion) เป็นการถ่ายเทศักย์ไฟฟ้า หรือไฟฟ้าสถิต ในโลหะที่แตกต่างกันสองชนิด เพราะฉะนั้นเราไม่สมควรที่จะลดต้นทุนของเราด้วยวิธีนี้ซึ่งจะทำให้เราต้องมาสูญเสียค่าใช้จ่ายในการที่จะมาแก้งาน ซึ่งบางคนนำสกรูและน๊อตเหล็กมาเปลี่ยนใหม่ผ่านไปสักพักก็จะเป็นอย่างนี้อีกเช่นเดิม และทำให้ผู้ใช้สเตนเลสขาดความเชื่อมั่นที่จะใช้สเตนเลสอีกต้องไป
 
 

ทำไมต้องใช้สแตนเลสสตีล (Stainless steel)

           เหตุเพราะสแตนเลสมีความต้านทานต่อการกัดกร่อน (Corrosion resistance) สแตนเลสทุกเกรดมีความต้านทานต่อการกัดกร่อนสูง แม้เป็นสแตนเลสเกรดผสมต่ำ (Low alloyed grade) อาทิเกรด 201 ก็สามารถต้านทานต่อการกัดกร่อนในบรรยากาศปกติ สำหรับสแตนเลสเกรดผสมสูง (Hight alloyed grade) อาทิเกรด 316, 304 นั้นมีความต้านทานต่อการกัดกร่อนในสภาพกรด ด่าง สารละลาย บรรยากาศคลอไรด์ได้เกือบทั้งหมด แม้จะมีอุณหภูมิและความดันในการใช้งานสูงก็ตาม สแตนเลสบางเกรดต้านทานต่อการเกิดสะเก็ดและคงความแข็งแรงที่อุณหภูมิสูงมาก ขณะที่ยังคงความเหนียวแน่น (Toughness) ในการใช้งานที่อุณหภูมิติดลบ
           อีกทั้งสแตนเลสง่ายต่อการสร้างหรือประกอบ (Ease of fabrication) จึงสามารถตัด เชื่อม ขึ้นรูป ตบแต่งทางกลหรือการประกอบอื่นๆ ได้ง่าย ทั้งสแตนเลสนั้นมีความแข็งแรง ซึ่งยิ่งเพิ่มความแข็งแรงได้จากการขึ้นรูปเย็น (Cold work hardening) ทำให้สามารถออกแบบงานเพื่อลดความหนา น้ำหนัก และราคา
           และด้วยเหตุที่สแตนเลสมีความสวยงามน่าดึงดูด โดยสามารถทำให้ผิวสวยงามได้หลายวิธี เช่นการทำให้ผิวสีทอง บรอนซ์ เขียว เงิน และดำ ด้วยวิธีชุบเคลือบผิวด้วยเคมี-ไฟฟ้า
           สำหรับคุณสมบัติด้านสุขศาสตร์ (Hygienic properties) เป็นอีกเรื่องที่ทำให้สแตนเลสเป็นที่นิยมนำมาใช้ เพราะความง่ายต่อการดูแลรักษาและการทำความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นในงานโรงพยาบาล เครื่องใช้ในครัว ด้านอาหารและเภสัชกรรม วงจรชีวิตการใช้งานของสแตนเลส คือ ทนทาน การบำรุงรักษาต่ำ และค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาในการใช้งาน ทั้งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycles)  ได้ง่ายและเศษสแตนเลสมีมูลค่าสูง
 
 

สภาพผิวของสแตนเลส    

 
No. 1 เป็นผิวที่ทำการรีดร้อนหรือรีดเย็น/อบอ่อน หรือปรับปรุงด้วยความร้อน โดยที่คราบออกไซด์ไม่ได้ถูกขจัดออก โดยทั่วไปใช้กับงานที่ทนความร้อน ลักษณะจะหยาบ และด้านเป็นผิวหยาบเล็กน้อย 

            2D หลังจากการรีดเย็นโดยลดความหนาลง ผ่านการอบอ่อนและการกัดผิวโดยกรดลักษณะผิวสีเทาเงินเรียบเป็นมัน แต่ไม่เงา 

            2B เป็นผิว 2D ที่ผ่านลูกรีดขนาดใหญ่กดทับปรับ
ความเรียบ เพิ่มความเงาผิวเงาสะท้อนปานกลาง ผลิตโดยวิธีการรีดเย็น ตามด้วยการอบนำอ่อนขจัดคราบออกไซด์ และนำไปรีดเบาๆ ผ่านไปยังลูกกลิ้งขัด ซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปของการรีดเย็น ผิวที่ได้ส่วนมากจะอยู่ในระดับ 2B เป็นผิวเรียบเป็นมัน และเงาเล็กน้อย

 
BA ผ่านกระบวนการรีดเย็นโดยความหนาลดลงทีละน้อยๆ ผ่านการอบอ่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจน เพื่อป้องกันกันการออกซิเดชั่นกับออกซิเจนในอากาศ ผิวมันเงา สะท้อนความเงาได้ดี ผิวผลิตภัณฑ์สเตนเลสจะกระทำด้วยวิธี นี้ ซึ่งจะมีเครื่องหมาย BA หรือ No.2BA, A ซึ่งผิวอบอ่อนเงา จะมีลักษณะเงากระจก ซึ่งเริ่มต้นจากการรีดเย็น อบอ่อนในเตาควบคุมบรรยากาศ ผิวเงาที่เห็นจะเป็นการขัดผิวด้วยลูกกลิ้งขัดผิว หรือเจียรนัยผิวตามเกรดที่ต้องการ ผิวอบอ่อนเงาส่วนมากจะใช้กับงานถาปัตยกรรม ที่ต้องการผิวสะท้อน
 
 
No. 4 เป็นสภาพผิว 2B ที่ผ่านการจัดถูด้วยกระดาษทรายเบอร์ 120-220 โดยค่าความหยาบขึ้นอยู่กับแรงกด, ขนาดของอนุภาคเม็ดทราย และระยะเวลาการใช้งานของกระดาษทราย ผิว No.4 เป็นสภาพผิวที่สนองต่อการนำไปใช้งานทั่วไป เช่นร้านอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว อุปกรณ์รีดนม เป็นผิวเป็นลายขัดเส้นสั้น ๆ หรือเรียกอีกอย่างว่าลายขนแมว


No.8 หรือผิว Mirror เป็นสภาพผิว 2B, BA ขัดด้วยผ้าขัดอย่างละเอียดมากขั้นตามลำดับ เช่น #1000, ผ้าขนสัตว์ โดยมีผงขัดอะลูมิเนียมและโครเมียมออกไซด์ ผิว No.8 ส่วนมากจะเป็นผิวเงาสะท้อนคล้ายกระจกเงา ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นสเตนเลสชนิดแผ่นโดยผิวจะถูกขัดด้วยเครื่องขัด ละเอียด นำไปใช้กับงานตกแต่งทางด้านสถาปัตยกรรม และงานที่เน้นความสวยงาม


HAIR LINE (HL) ผิวลายขัดเป็นเส้นยาวตลอดแผ่น หรือ เรามักรียกว่า ลายเส้นผม ซึ่งยังเเยกเเยะในรายละเอียดลงไปอีก


Vibration Finish เเละ Titanium Coating ผิวลายพิเศษ เเละ การเคลือบสีโลหะเเบบต่างๆ

             ปกติสเตนเลสถ้าทำสีแล้วจะไม่เกาะ เนื่องจากผิวที่เรียบและลื่น ทำให้เวลาพ่นหรือทาสีจะไม่คงทนอีกทั้งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างฟิมล์ป้องกันสนิมของสเตนเลส แต่ถ้าประสงค์จะทำจริง ๆ ให้ใช้น้ำยา"วอชไฟท์เมอร์"พ่นที่ผิวก่อนรอจนแห้งแล้วจึงใช้สีจริงพ่นหรือทาตาม ถ้าเป็นของ JBP ที่เขียนข้างกระป๋องว่า V-4(A)

ข้อดีของสเตนเลสที่มีผิวเงา

             ในการนำสเตนเลสไปใช้งานภายนอกนั้น ควรจะใช้สเตนเลสที่มีผิวเงาจะดีที่สุดเพราะผิวจะสะสมคราบฝุ่นละอองได้น้อยกว่า อีกทั้งสามารถทำความสะอาดผิวได้ด้วยตัวเอง (Self Cleaning) เมื่อโดนแรงลม และการชะล้างจากน้ำฝน
  
    

วิธีทำความสะอาดสแตนเลสสำหรับคราบสกปรกทั่วๆ ไป

 
          รอยนิ้วมือ ล้างด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือสารละลาย เช่น แอลกอฮอล์ หรืออาเซโทน ล้างออกด้วยน้ำเย็น และเช็ดให้แห้ง             
            น้ำมันคราบน้ำมัน ล้างด้วยสารละลายไฮโดรคาร์บอน/ออร์กานิก (เช่น แอลกอฮอล์) แล้วล้างออกด้วยสบู่/ผงซักฟอกอย่างอ่อน และน้ำ ล้างออกด้วยน้ำเย็น และเช็ดให้แห้ง แนะนำให้จุ่มชิ้นงานให้โชกก่อนล้างในน้ำสบู่อุ่นๆ 
            สี ล้างออกด้วยสารละลายสี ใช้แปลงไนล่อนนุ่ม ๆ ขัดออก แล้วล้างออกด้วยน้ำเย็นและเช็คให้แห้ง
            เปลี่ยนสีเนื่องจากความร้อน ทาครีม (เช่น บรัสโซ) ลงบนแผ่นขัดที่ไม่ได้ทำจากเหล็ก แล้วขัดคราบที่ติดบนสเตนเลสออก ความร้อนขัดไปในทิศทางเดียวกันกับพื้นผิว ล้างออกด้วยน้ำเย็น และเช็ดให้แห้ง
            ป้ายและสติกเกอร์   จุ่มลงในน้ำอุ่นๆ ลอกเอาป้ายออกแล้วถูกาวออกด้วยเบนซิน ล้างออกด้วยสบู่และน้ำจากนั้นให้ล้างด้วยน้ำอุ่น เช็คให้แห้งด้วยผ้านุ่ม ๆ
            รอยน้ำ/มะนาว จุ่มลงในน้ำส้มสายชูเจือจาง (25%) หรือกรดไนตริก (15%) ล้างให้สะอาด ล้างออกด้วยสบู่และน้ำ จากนั้นล่างให้สะอาดด้วนน้ำอุ่น เช็คให้แห้งด้วยผ้านุ่ม ๆ
            คราบชา กาแฟ ล้างด้วยโซดาไบคาร์บอเนตในน้ำ ล้างออกด้วยสบู่และน้ำ จากนั้นล้างให้สะอาดด้วยน้ำอุ่น เช็คให้แห้งด้วยผ้านุ่มๆ
            คราบสนิม จุ่มในน้ำอุ่นที่มีส่วนผสมสารละลายกรดไนตริก ในอัตราส่วน 9 ต่อ 1 ประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ล้างออกด้วยน้ำให้สะอาดหรือล้างผิวด้วยสารละลายกรดออกชาลิค ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที ล้างออกด้วยน้ำเย็นและเช็คให้แห้งหรือต้องใช้เครื่องมือล้างหากคราบสนิมติด แน่น
   
 
 

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป

                ผงซักฟอก / สบู่ /น้ำยาทำความสะอาดกระจกที่ใช้ในบ้าน  ใช้ล้างสเตนเลสได้เป็นครั้งคราว แต่ต้องล้างออกด้วยน้ำเย็นให้หมด
                ยาฆ่าเชื้อ ในบ้านและในอุตสาหกรรม  ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อเจือจางโดยจำกัดจำนวนครั้งที่ใช้ ต้องล้างออกด้วยน้ำให้สะอาด
                สารละลายแอลกอฮอล์และอะเซโทน  สำหรับคราบที่ล้างด้วยสบู่ไม่ออก เช่น สี และคราบมันจากสารอนินทรีย์ จากนั้นล้างด้วยสารละลายแล้วเช็ดออกด้วยสบู่ และล้างออกด้วยน้ำสะอาด
                กรดทำความสะอาด   สารละลายทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของฟอสฟอรัสและไนตริก   เป็น วิธีสุดท้ายที่ควรใช้ทำความสะอาดสเตนเลส ล้างออกด้วยน้ำร้อนหลายๆครั้ง โดยใช้ความระมัดระวัง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสำหรับการใช ้ที่ถูกต้องและปลอดภัย
                ทำความสะอาดโดยใช้เครื่องมือการยิงผิวหน้า,การขัดผิวหน้า,การขัดด้วยลวด, การใช้ผงขัด        คราบ ที่ล้างออกยาก ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเชิงกล ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต้องปลอดออกไซต์หลัก และระวังไม่ให้เกิดคราบขึ้นอีก การใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จะทำให้ พื้นผิวสตนเลสมีการเปลี่ยนแปลง
                      
 
ขอขอบคุณข้อมูลหลัก อ.กนก ไร้สนิม 

ขอขอบคุณภาพประกอบหลัก บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) และ Thai Unique Coil Center Public company limited